อำเภอเมือง

วัดบูรพาราม (วัดพระอารามหลวง)

เป็นวัดคู่เมืองสุรินทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อพระชีว์ พระคู่เมืองสุรินทร์และเป็นวัดที่หลวงปู่ดูลย์ ปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของสุรินทร์เคยจำพรรษาอยู่

 

ประวัติวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร

วัดบูรพาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีอายุประมาณกว่า ๒๐๐ ปี เท่าๆ กับอายุของเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง (ปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐-๒๓๓๐ โดยประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น เรียกชื่อว่า "วัดบูรพ์"

เดิมเป็นวัดมหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่มีพัฒนาการที่ยาวนานตามยุคตามสมัย ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโสอ้วน) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล ได้อนุมัติให้วัดบูรพ์เป็นวัดในสังกัดคณะธรรมยุต และได้นิมนต์พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) ซึ่งปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอยู่ ให้มาประจำอยู่ที่วัดบูรพาราม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และร่วมเป็นคณะพระสังฆาธิการ ความสำคัญต่อชุมชน

วัดบูรพาราม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นวัดสำคัญของจังหวัดสุรินทร์ ด้วยความศรัทธา ดังนี้

(๑.) หลวงพ่อพระชีว์ พระพุทธรูปโบราณถือว่าเป็นพระประจำเมืองสุรินทร์ ประดิษฐานในพระวิหารจตุรมุข ภายในวัดบูรพาราม

(๒.) พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) เคยประจำอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ จนกระทั่งมรณภาพ พ.ศ. ๒๕๒๖ ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกัมมัฏฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาสให้การยอมรับว่า หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นองค์เดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งภาวนาจิต เส้นทางเข้าสู่วัดบูรพาราม

การเดินทาง

วัดบูรพารามตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ จึงมีเส้นทางเข้าออกได้หลายเส้นทาง ได้แก่ ถนนกรุงศรีใน ถนนธนสาร และถนนหลักเมือง วัดบูรพารามตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์

อำเภอศรีขรภูมิ

ปราสาทศรีขรภูมิ

ปราสาทศีรขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ทีมุมทั้งสี่สร้างบนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือ ด้านทิศตะวันออกเช่นกัน

     ปรางค์ทั้ง 5 องค์ มีลักษณะเหมือนๆ กันคือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฎราช(พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่นมีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล

     ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์

     จากลวดลายทีเสารและทับหลังของปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ มีลักษณะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ.1550-1650) และแบบนครวัด ( พ.ศ.1650-1700) จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที 17 หรือต้นสมัยนครวัด โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

การเดินทาง

ปราสาทศรีขรภูมิ (หรือปราสาทระแงง) ตั้งอยู่ทีตำบลระแงง อำเภอศรีขรภูมิ ห่างจากอำเภอเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศีขรภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 226) ห่างจากที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิไปอีกประมาณ 1 กม.

กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์

ประวัติความเป็นมา

ชุดเครื่องประดับเงินลายโบราณ เป็นลายที่เลียนแบบมาจากดอกไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าดอกตะเกาเป็นดอกไม้ที่มีความสวยงามมีกลิ่นหอมมีอายุราวสมัยพุทธกาล แต่ก่อนชุดเครื่องประดับเงินโบราณมีใช้เฉพาะในตระกูลสูงศักดิ์ เป็นเครื่องประดับที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สวยงามและใช้ในงานมงคลต่าง ๆ

 

กระบวนการขั้นตอนการผลิต

1. นำเม็ดเงินมาหลอมละลายเพื่อนำมารีดเป็นแผ่นบาง ๆ
2. นำแผ่นเงินที่รีดเป็นลวดดัดแปลงเป็นดอกเล็กๆ ตามต้องการ
3. นำมาร้อยเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู ตามแบบและขนาดที่ต้องการ

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

เป็นเครื่องประดับที่มีลวดลายปราณีต เหมาะสำหรับเป็นเครื่องประดับสตรี

สถานที่จำหน่าย

149 หมู่ 8 ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ 0-6804-1007

 

การเดินทาง

ตามทางหลวงหมายเลข 214 (ทางสายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร แยกขวามือไปอีก 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองและการผลิตลูกประคำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า ลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในบริเวณหมู่บ้าน ราคาย่อมเยา